วันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2553

นโยบาย 3D


คำว่า "ดี" ภาษาไทย ก็ คือ
1. เราต้องการให้เด็กมีความรู้ ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย
2. คือต้องมีคุณธรรม จริยธรรม มีผิดชอบ ชั่วดี เด็กที่จบออกมา ถ้ารู้ผิดชอบ ชั่วดี มีหิริโอตตัปปะ ผมคิดว่าครบถ้วนทุกอย่าง จะรู้อะไรควรทำไม่ควรทำ ทุจริตเป็นอย่างไร
3. ต้องห่างไกลยาเสพติด อันนี้ คือ โครงการสามดี ภาษาไทย

ส่วน D ภาษาอังกฤษ คือ
1. Democracy คือ ประชาธิปไตย
2. Decency คือ คุณธรรม จริยธรรม รู้ผิดชอบ ชั่วดี
3. Drug คือ ยาเสพติด

ผลการดำเนินงาน ตามนโยบาย “สถานศึกษา 3D”

สำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษาที่ 8 ได้ดำเนินการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายสถานศึกษา 3 D เพื่อประเมินการจัดการเรียนการสอน การสร้างองค์ความรู้ กระบวน การคิดวิเคราะห์ การบ่มเพาะ กล่อมเกลา ปลูกฝังและปลุกจิตสำนึก เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณธรรมจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อตนเองสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสถานศึกษาทุกระดับ ทุกสังกัด และหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนและร่วมจัดการศึกษา มีส่วนสำคัญในการจัดการเรียนการสอน จัดกิจกรรมที่ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาผู้เรียนอย่างเหมาะสม ใน 3 ด้าน คือ ด้านการส่งเสริมประชาธิปไตย (DEMOCRACY) ด้านการส่งเสริมให้มีคุณธรรม จริยธรรมและความเป็นไทย (DECENCY) และด้านการสร้างภูมิคุ้มกันภัยจากยาเสพติดทุกชนิด (DRUG – FREE) สรุปผลการดำเนินงานฯ ดังนี้


1. ด้านการส่งเสริมประชาธิปไตย (DEMOCRACY)
ผลการดำเนินงาน สถานศึกษาในเขตตรวจราชการที่ 14 ได้ดำเนินการจัดกิจกรรม / โครงการต่าง ๆ ดังนี้
1) กิจกรรมสภานักเรียน
2) การเลือกตั้งคณะกรรมการนักเรียน
3) สอนสอดแทรกในทุกรายวิชา
4) การสอบถามความคิดเห็นจากชุมชน ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษาในการบริหารโรงเรียน
5) โครงการส่งเสริมวิถีชีวิตตามระบอบประชาธิปไตย โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
6) ปลูกฝังจริยธรรมของระบอบประชาธิปไตยอันบริสุทธิ์
7) จัดอบรมโครงการเพิ่มพื้นที่ดี ลดพื้นที่เสี่ยง รอบรั้วโรงเรียน
8) โครงการต้นกล้าประชาธิปไตย
9) กิจกรรมเยาวชนจิตอาสา
10) รณรงค์การใช้สิทธิ์เลือกตั้งทุกประเภท


2. ด้านการส่งเสริมให้มีคุณธรรม จริยธรรมและความเป็นไทย (DECENCY)
ผลการดำเนินงาน สถานศึกษาในเขตตรวจราชการที่ 14 ได้ดำเนินการจัดกิจกรรม / โครงการต่าง ๆ ดังนี้
1) การแต่งกายพื้นเมืองทุกวันศุกร์
2) ค่ายคุณธรรม จริยธรรม
3) การเคารพ น้องไหว้พี่
4) โครงการเข้าวัดกับชุมชนเดือนละครั้ง
5) โครงการประกวดมารยาทไทย
6) โครงการวันสำคัญทางศาสนา
7) โครงการพัฒนาคุณธรรมวิถีพุทธ
8) โครงการประกวดมารยาทไทย
9) โครงการไหว้สวยทั้งโรงเรียน
10) กิจกรรมสาธารณประโยชน์ในชุมชน

วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง



เศรษฐกิจพอเพียง

“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย
มาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไข เพื่อให้รอดพ้น และ สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผลรวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

ประมวลและกลั่นกรองจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพระราชทานในวโรกาสต่าง ๆ รวมทั้งพระราชดำรัสอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2542 เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาขนโดยทั่วไป

หลักแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง

การพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

มีหลักพิจารณาอยู่ 5 ส่วน ดังนี้

• กรอบแนวคิด เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สมารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัย และวิกฤต เพื่อ ความมั่นคง และ ความยั่งยืน ของการพัฒนา
• คุณลักษณะ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน
• คำนิยาม ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ พร้อม ๆ กัน ดังนี้ • ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่นการผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
• ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
• การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล


• เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ

• เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
• เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

• แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี